Guest Relation

Energy

Published on มกราคม 2nd, 2014 | by Divali

0

>ส.อ.ท. โวยภาครัฐทำพลังงานทดแทนป่วน

ส.อ.ท. โวยภาครัฐทำพลังงานทดแทนป่วน ผู้ประกอบการโอดตัวเลขฟีดอินทรารีฟใหม่ต่ำเกินไป “พิชัย”เสนอให้ทบทวนไออาร์อาร์ อย่าถัวเฉลี่ยทั้งหมดที่ 12% อ้างโรงไฟฟ้าขยะ-ไบโอแมส อยู่ยาก พร้อมขยับตัวเลขสมมติฐานการลงทุนเพิ่ม

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกรณีกระทรวงพลังงานทบทวนราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งระบบใหม่ โดยต้องการเปลี่ยนเป็นระบบรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง หรือ ฟีดอินทรารีฟ จากปัจจุบันยังใช้ระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า หรือแอดเดอร์ ซึ่งจากการหารือกับกระทรวงพลังงานพบว่าตัวเลขที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ใช้คำนวณผลตอบแทนการลงทุน(ไออาร์อาร์) เพียง 12% เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำมาก เพราะการนำไออาร์อาร์มาถัวเฉลี่ยราคารับซื้อไฟฟ้าของพลังงานทดแทนทุกตัวนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากต้นทุนพลังงานของแต่ละชนิดแตกต่างกัน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ซึ่งไม่ต้องซื้อหา แต่พลังงานจากก๊าซชีวภาพและก๊าซชีวมวล มีต้นทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงกว่า
“ในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ ทาง สนพ. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นตัวเลขฟีดอินทรารีฟของพลังงานทดแทนที่ปรับใหม่ ซึ่งกลุ่มจะเสนอให้ทบทวนไออาร์อาร์ใหม่ด้วย เพราะเห็นว่าพลังงานทดแทนแต่ละชนิด ไม่ควรถัวเฉลี่ยรวมกัน อาทิ ไบโอแมส ไออาร์อาร์ควรอยู่ที่ 15% และโรงไฟฟ้าขยะ ควรอยู่ที่ 18-19% เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านวัตถุดิบและต้องใช้เทคโนโลยีด้านเครื่องจักรสูง นอกจากนี้จะเสนอ สนพ.ให้ทบทวนตัวเลขสมมติฐานการลงทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแต่ละชนิดใหม่ เนื่องจากปัจจุบันตัวเลขที่ สนพ.ใช้อ้างอิงยังต่ำกว่าความเป็นจริงมาก อาทิ โรงไฟฟ้าขยะ ต้นทุนควรอยู่ที่ 80 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ไม่ใช่ 65 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ “

อย่างไรก็ตาม มองว่าการที่กระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานทดแทนเป็นระบบฟีดอินทรารีฟทั้งหมด เป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากจะลดความเสี่ยงของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศที่จะมั่นใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพราะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20 ปี แต่ควรปรับตัวเลขฟีดอินทรารีฟให้มีความเหมาะสม เพื่อผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้
นายพิชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมพลังงานไบโอแมส จะเห็นได้ว่าโครงการส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ 6-50 เมกะวัตต์ โดยใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น ชานอ้อย แกลบ ส่วนโครงการขนาดเล็ก(เอสพีพี) และขนาดเล็กมาก (วีเอสพีพี) ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากอัตราส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าเป็นอัตราใกล้เคียงกับโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ดังนั้นผู้ประกอบการรายเล็กๆจึงอยู่ยาก เพราะมีต้นทุนสูงกว่า

ส่วนการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะอัตราส่งเสริมไม่จูงใจ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่เอกชนต้องแบกรับแทนภาครัฐตลอดระยะเวลา 20-25 ปี ขณะเดียวกันขยะในประเทศไทยมีความชื้นสูง ไม่มีการคัดแยก จึงทำให้โครงการที่ใช้ระบบเตาเผาขยะโดยตรงล้มเหลว ขายไฟฟ้าได้ไม่ถึง 50% ของที่ประเมินไว้ นอกจากนี้ปัจจุบันพบว่าภายหลังจาก สนพ.ทบทวนตัวเลขจากเดิมเป็นแอดเดอร์(รวมกับค่าไฟฐาน) 6.50 บาทต่อหน่วย แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นฟีดอินทรารีฟอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วยเท่านั้น จากอัตราที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 6.20 บาทต่อหน่วย ดังนั้นยิ่งทำให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นได้ยาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,905 วันที่ 15 – 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑