Guest Relation

Very Krabi

Published on พฤศจิกายน 18th, 2013 | by Divali

0

ทุ่งทะเล…ที่ทำกินชุมชน

พระราชดำริ : สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

ความเป็นมา
ป่าทุ่งทะเล เป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะกลาง ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2511 ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 22,181 ไร่ เดิมเป็นทุ่งหญ้ากว้างสลับกับแนวป่า ราษฎรได้ใช้เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย ซึ่งได้รับอนุญาตจากสำนักงานป่าไม้เขตนครศรีธรรมราช กรมป่าไม้ในขณะนั้น ให้ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ เนื้อที่ประมาณ 4,200 ไร่ โดยไม่ต้องขออนุญาต
ด้วยสภาพพื้นที่ป่าทุ่งทะเลที่มีลักษณะเป็นที่ราบ ติดทะเล และมีหาดทรายที่ทอดยาว สวยงาม จึงมีราษฎร นายทุนเข้ามาบุกรุกทำลายป่าทุ่งทะเล จนมีสภาพเสื่อมโทรม เพื่อเข้าทำประโยชน์ ครอบครองที่ดิน แต่ยังมีราษฎรกลุ่มหนึ่งที่มีความผูกพันและรักธรรมชาติ หวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น จึงร่วมกันต่อต้านการบุกรุกครอบครองที่ดินของนายทุน จนเกิดปัญหาการกระทบกระทั่ง เกิดการชุมนุม มีการร้องเรียน และมีคดีฟ้องร้องกันเรื่อยมา ต่อมากรมป่าไม้ ได้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะกลางให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการ และมีการรังวัดเนื้อที่บ้างแล้ว แต่ราษฎรกลุ่มอนุรักษ์ก็ยังแสดงเจตนาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง จังหวัดกระบี่ จึงพิจารณาทูลเกล้าฯ ถวายที่ดินป่าทุ่งทะเลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อใช้เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงใช้เป็นศูนย์ศิลปาชีพ และเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวด้วย ตามลำดับดังนี้
เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2537 จังหวัดกระบี่ ได้นำกราบเรียนราชเลขานุการในองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นำป่าทุ่งทะเลเนื้อที่ประมาณ 4,200ไร่ ขึ้นน้อมเกล้าฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นสถานที่ฝึกศิลปาชีพ และหรือสงวนไว้ เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันตามพระราชอัธยาศัย
วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2537 จังหวัดกระบี่ ได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้และจะทรงดำเนินการเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ตลอดจนรักษาไว้
ต่อมาปี พ.ศ. 2540 กรมป่าไม้ได้กำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะกลาง บางส่วนรวมทั้งป่าทุ่งทะเลด้วย ป่าสงวนแห่งชาติป่าหลังสอด ฟ310 เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทุ่งทะเล
พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2541 ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ให้มีการศึกษา วิจัย ทดลอง และขยายพันธุ์สัตว์น้ำทะเลที่คาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำทะเลเศรษฐกิจที่ดีในอนาคตได้ จะได้นำไปส่งเสริมเป็นอาชีพของราษฎร ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศของป่าทุ่งทะเล และให้จ้างประชาชนที่อาศัยทำกินอยู่เดิมในพื้นที่มาเป็นคนงานหรือลูกจ้างด้วย
โครงการดังกล่าว จัดตั้งขึ้นเพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งฟื้นฟูสภาพป่าทุ่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์และสมดุลทางระบบนิเวศวิทยา อีกทั้งยังเพื่อศึกษาค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับป่าไม้ พืชพันธุ์ไม้ และสัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ในพื้นที่ป่าทุ่งทะเล เพื่อนำไปสู่การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติในระยะต่อไป นอกจากนี้ยังเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอนุรักษ์และป้องกันรักษาพื้นที่ป่าทุ่งทะเล มิให้เสื่อมโทรมและถูกบุกรุกทำลาย ตลอดจนเพื่อยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ป่าทุ่งทะเลให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ได้ตามเกณฑ์ความจำเป็นพื้นฐาน โดยเน้นการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา โดยดำเนินการที่บริเวณบ้านปากคลอง หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีกรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานพระราชดำริหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ (2542-2544) ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานในการพัฒนาและยกระดับชุมชน คุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และจังหวัดกระบี่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานกรรมการ

ลักษณะภูมิประเทศ :

ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไป เป็นเกาะ เกาะหนึ่งที่ถูกแบ่งออกจากแผ่นดินใหญ่ของตำบลเกาะกลาง โดยมีคลองร่าหมาด และคลองลัดลิกี เป็นตัวแบ่งพื้นที่ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบชายหาด ดินส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินร่วนปนทราย ตอนกลางของพื้นที่เป็นป่าพรุและป่าเลน มีพันธุ์ไม้ต่างๆ ขึ้นอยู่กระจัดกระจายสลับกับทุ่งหญ้า ดังนี้
1.ป่าพรุ กระจายอยู่ทั่วไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโครงการ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้เสม็ดที่สมบูรณ์ หนาแน่นที่สุดของประเทศ ส่วนพันธุ์ไม้อื่น ได้แก่ หว้าหิน หว้า ตังหน ส่วนไม้พื้นล่าง ได้แก่ ต้นหลาวชะโอน กะพ้อ หวาย กล้วยไม้ป่า เป็นต้น
2.ป่าชายเลน อยู่หนาแน่นบริเวณริมคลองน้ำเค็ม ได้แก่ คลองร่าหมาด คลองลัดลิกีทางด้านทิศตะวันออก และทิศใต้ของพื้นที่ ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก โปรงแดง โปรงขาว ถั่วดำ ถั่วขาว ตะบูนดำ ตะบูนขาว พันธุ์ไม้พื้นล่าง ได้แก่ หวายลิง เหงือกปลาหมอ เป็นต้น
3.ป่าชายหาด อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน ความยาวของชายหาดทุ่งทะเล ประมาณ 7 กิโลเมตร มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้สนทะเล หยีทะเล ปอทะเล พันธุ์ไม้พื้นล่าง ได้แก่ เตยทะเล
4.ป่าดิบชื้น ขึ้นอยู่ตามร่องห้วยน้ำจืดบริเวณตอนกลางของพื้นที่ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตะเคียน หว้าหิน เสม็ดแดง หว้า และมีกล้วยไม้ป่าหลากหลายชนิด
5.ทุ่งหญ้าธรรมชาติ มีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าเรียบ สวยงาม ทอดตลอดแนวป่าชายหาดและป่าพรุเสม็ดเป็นส่วนใหญ่ และมีการกระจายเป็นหย่อม ๆ

จุดเด่นที่น่าสนใจ
หาดทรายที่ทอดยาว ประมาณ 7 กิโลเมตร ติดทะเลชายฝั่งอันดามันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม อากาศสดชื่น และเงียบสงบ เป็นพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ และหลากหลาย ผืนป่าหลากหลาย สัตว์ป่ามากมายมีในป่าของโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีสภาพสมบูรณ์ สวยงาม และมีความหลากหลายของชนิดป่าในพื้นที่เดียวกันถึง 5 ชนิด เช่น ป่าพรุ ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ทุ่งหญ้า และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น นาค เสือปลา หมูป่า ลิงลม เป็นต้น

ที่ตั้งโครงการ : บ้านปากคลอง หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่

วัตถุประสงค์ของโครงการ :
1.เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งฟื้นฟูสภาพป่าทุ่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสมดุลทางระบบนิเวศของป่าทุ่งทะเลให้มีความอุดมสมบูรณ์ และหลากหลาย
2.เพื่อแก้ไขปัญหา และลดความขัดแย้งของราษฎรทั้งในและนอกพื้นที่ ด้านการบุกรุกยึดถือ ครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเกาะกลาง
3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ป่าทุ่งทะเลตามความจำเป็น และเหมาะสม สอดคล้องกับระเบียบ
ข้อกฎหมายของรัฐที่มีอยู่
4.เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้า ทดลองเกี่ยวกับป่าไม้ พืชพันธุ์ สัตว์ป่า รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ และนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติในระยะต่อไป
5.เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างจิตสำนึกให้กับเยาวชน ชุมชน ประชาชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา อนุรักษ์ ป้องกัน รักษาพื้นที่ป่าทุ่งทะเล
6.เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ของประชาชน ชุมชนรอบพื้นที่ป่าทุ่งทะเล ด้านต่างๆ ให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา

การดำเนินงานด้านต่างๆ
1. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีการก่อสร้างถนนลาดยาง สะพาน คสล. และก่อสร้างถนนภายในโครงการ รวมถึงได้ขุดสระเก็บน้ำภายในบริเวณโครงการ 2 แห่ง พร้อมทั้งได้ทำการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ
2. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำการดูแลรักษาและป้องกันไฟป่า และพัฒนาพื้นที่ชายหาด ปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน จ้างแรงงานจากราษฎรในพื้นที่ จัดทำแนวกันไฟบริเวณพื้นที่ล่อแหลม เพาะชำกล้าไม้สนับสนุนป่าชุมชน จัดทำแนวเขตป่าบกซึ่งอยู่ในงานป้องกันรักษาป่า พร้อมกันนี้ได้มีการอบรมและปลูกฝังจิตสำนึกของราษฎร รวมทั้งเยาวชนให้มีความรู้เรื่องป่า เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าอย่างถูกวิธี
3. ด้านการพัฒนาการเกษตรและอาชีพ จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลากะรัง แจกอุปกรณ์การเลี้ยงปลา อบรม และแจกพันธุ์ปลากะรัง จัดเจ้าหน้าที่ประจำโครงการให้คำแนะนำดูแลตลอดระยะเวลา สำหรับปัญหาอุปสรรคเป็นไปตามฤดูกาลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามดูแล และให้คำแนะนำ พร้อมทั้งได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเพาะฟัก โรงอนุบาล โรงแพลงก์ตอน บ่อฆ่าเชื้อ ท่อส่งน้ำ โรงสูบน้ำ โรงเป่าลม บ่อดินอนุบาลและบ่อพักน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตปูทะเล
เพื่อปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ซึ่งแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2545 นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ได้ดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำจืดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกพร้อมทั้งสนับสนุนพันธุ์เป็ดเทศ และจัดอบรม รวมถึงสนับสนุนเวชภัณฑ์และวัคซีนป้องกันโรค สำหรับด้านเกษตรกรรม ได้ส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ การปลูกมะพร้าวอ่อน เป็นต้น รวมทั้งได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จัดกิจกรรมส่งเสริมหัตถกรรมจากเตยปาหนัน และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ

ผลการดำเนินงาน :
– กิจกรรมดูแลรักษาป่า ป้องกันไฟป่า พัฒนาพื้นที่ชายหาด เนื้อที่ 7,057 ไร่ – ขุดลอกคูแนวเขตป่าชายเลน กว้าง 4 เมตร ลึก 2 เมตร ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร – สำรวจรังวัดแนวเขตพื้นที่โครงการฯ – จัดสร้างสำนักงาน บ้านพัก ห้องน้ำ ฯลฯ – ปลูกฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เนื้อที่ 560 ไร่ – ปลูกต้นไม้ตามแนวชายหาดและแนวถนน เนื้อที่ 300 ไร่
– จัดสร้างอาคารโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมราษฎรในโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล จำนวน 1 หลัง
– จัดฝึกอบรมราษฎร ตามโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล จำนวน 3 รุ่น รวม 88 คน สามารถทอผ้าได้ จำนวน 6,310 เมตร

ผลสำเร็จของโครงการ :
จากผลการดำเนินงานตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้พื้นที่ป่าทุ่งทะเลที่เคยถูกบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าจนเสื่อมโทรม ได้รับการฟื้นฟูและป้องกันรักษาจนมีความอุดมสมบูรณ์ มีจำนวนสัตว์ป่าเพิ่มมากขึ้น ตลอดทั้งทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์ ราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงสามารถออกหาสัตว์น้ำได้จำนวนมากขึ้นอยู่เสมอ ทั้งปัจจุบันได้ปรับปรุงให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติ สถานที่พักผ่อน ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวพักผ่อนเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดทั้งมีการเข้ามาจัดตั้งค่ายลูกเสือ-เนตรนารี ค่ายสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ
การส่งเสริมอาชีพในโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเลให้แก่ราษฎร (การทอผ้ากี่กระทบ) อันเป็นการยกระดับรายได้ให้แก่ราษฎรเพิ่มมากขึ้น สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างเพียงพอ โดยใช้เวลาว่างจากภารกิจหลักให้เกิดประโยชน์ ซึ่งการส่งผ้าครั้งหนึ่ง (ประมาณ 6 เดือน/ครั้ง) สร้างรายได้แก่ผู้ทอผ้าได้ไม่น้อยกว่า 10,000 – 30,000 บาท (ตามความสามารถ) ตลอดทั้งการส่งเสริมอาชีพตามภูมิปัญญาท้องถิ่น(การจักสานเตยปาหนัน,การเลี้ยงผึ้งโพรง,การเลี้ยงสัตว์ป่า เป็นต้น) ทำให้ราษฎรมีอาชีพเสริมเพิ่มขึ้นตามที่ตนเองชอบและถนัด สร้างรายได้ และยกระดับฐานให้ดีขึ้น ในปัจจุบันมีชุมชนรอบๆ พื้นที่โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ ขึ้นมาหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาชีพจักสานผลิตภัณฑ์จากใบเตยปาหนัน,กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งโพรง,กลุ่มผลิตกาแฟสด เป็นต้น
การปลูกสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้แก่เยาวชนในบริเวณรอบๆ พื้นที่โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความเข้าใจ และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมากขึ้น และมีเครือข่ายอาสาสมัครปกป้องดูแลรักษาป่าเพิ่มขึ้น

ข้อมูล : สื่ออาสา สืบสานพระราชดำริ… สำนักงาน ปกร.

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑