Guest Relation

Environment

Published on ตุลาคม 28th, 2013 | by Divali

0

แรมซ่าไซท์…ปากแม่น้ำกระบี่

แรมซ่าไซท์…ปากแม่น้ำกระบี่

ที่ตั้งและพื้นที่ พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จ.กระบี่ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย และลำดับที่ 1100 ในทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
เนื้อที่ 133,120 ไร่
ความสูงจากระดับน้ำทะเล
โดยเฉลี่ยประมาณ 1 – 3 เมตร
ระวาง 4724 I , 4725 II

ลักษณะทั่วไป
พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สุสานหอย 75 ล้านปี ที่เป็นหนึ่งเดียวในภูมิภาคนี้ เขตผังเมืองรวมกระบี่ ป่าชายเลนหาดเลนหาดทรายลำคลองน้อมใหญ่หน้าเมืองกระบี่ ถึงป่าชายเลนและหญ้าทะเลผืนใหญ่ในบริเวณเกาะศรีบอยา ป่าชายเลนปากแม่น้ำกระบี่มีสภาพสมบูรณ์ขึ้นอยู่หนาแน่นและสวยงาม มีลำคลองหลายสายไหลลงสู่ทะเลปกคลุมด้วย ป่าชายเลนเนื้อที่ประมาณ 102.12 ตารางกิโลเมตร ( 63,825 ไร่ ) และหาดเลนเนื้อที่ประมาณ 12 ตารางกิโลเมตร (7,500 ไร่) มีความยาวตามแนวชายฝั่งทะเลประมาณ 26 กิโลเมตร โดยหาดเลนจะปรากฏเมื่อน้ำทะเลลง หาดเลนบางแห่งมีความ
กว้างถึง 2 กิโลเมตรจากชายฝั่งหาดเลนระหว่างปากน้ำกระบี่กับคลองยวนมีขนาดประมาณ 9.3 ตารางกิโลเมตร (5,812.5 ไร่) เมื่อน้ำทะเลลดลงต่ำสุดระดับน้ำโดยเฉลี่ยลึก 2 เมตร บริเวณร่องน้ำมีความลึกประมาณ 6-10 เมตร
สถานภาพได้รับการคุกคามจากน้ำเสียจากแหล่งชุมชนที่ไหลลงสู่คลองกระบี่ใหญ่ ขยะจากตลาดกลางคืนที่ถูกกวาดลงสู่ปากแม่น้ำ
การจัดการและอนุรักษ์บริเวณหาดทรายเขาหินปูนป่าชายเลนและป่าเสม็ดรอบอ่าวนางและชายหาดริมฝั่งทะเลจนจรดปากแม่น้ำกระบี่เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา – หมู่เกาะพีพี

ความสำคัญที่จัดเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ
ปากแม่น้ำกระบี่รวมทั้งแหล่งหญ้าทะเลในเกาะศรีบอยา เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งที่มีลักษณะเฉพาะแห่งหนึ่งของ ประเทศไทยพบนกอย่างน้อย 221 ชนิด ในพื้นที่ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่พบนกที่อยู่ในสถานภาพทีแนวโน้มสูญพันธุ์ และสถานภาพใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด เช่น นกยางจีน (Egretta eulophotes ) นกฟินฟุท (Heliopais personata ) และนกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer ) นอกจากนี้ยังพบพะยูน (Dugong dugon ) ซึ่งอยู่ในสถานภาพแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หาดเลนในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จัดเป็นเลนหางหนึ่งที่มีความสำคัญมากต่อนกอพยพในภาคใต้ ป่าชายเลนเป็นแหล่งที่มีความสำคัญหลากลายทางชีวภาพสูง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบ ได้แก่ ลิงแสม (Macaca fascicularis ) ซึ่งอยู่ในสานภาพใกล้ถูกคุกคาม และนากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinerea ) หาดเลนและป่าชายเลนเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เช่น ปลากะพงขาว (Later calcarifer ) ปลากระบอก (Mugil spp. ) และปูทะเลก้ามสีฟ้า (Scylla serata) เป็นต้น
คุณค่าด้านสังคมและวัฒนธรรม
หาดปากแม่น้ำกระบี่เป็นแหล่งนกอพยพที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ป่าชายเลนสัมปทานที่ 2 และ 26 ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ดีมาก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นที่อยู่อาศัยของนกป่าชายเลนบริเวณปากแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำทะเลและการเพาะเลี้ยวสัตว์น้ำ นอกจากนี้ปากแม่น้ำกระบี่ยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณค่า ด้านการท่องเที่ยวและการให้การศึกษาเนื่องจากอยู่ใกล้ตัวเมืองจึงเป็นแหล่งดูนกที่สามารถเดินทางได้สะดวก เหมาะสำหรับนักดูนก และนักเรียนศึกษาผู้ต้องการศึกษาธรรมชาติ

คุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
สภาพทางชีวภาพบริเวณที่เป็นป่าชายเลนมีไม้โกงกางขึ้นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น ถึงแม้ว่าจะผ่านการทำไม้มาแล้ว แต่สภาพป่ายังมีไม้ขนาดใหญ่เหลืออยู่บ้าง พบพันธุ์ไม้อย่างน้อย 19 ชนิด จากริมน้ำเป็นกลุ่มไม้โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) โกงกางใบเล็ก ( R. apiculata ) ถัดไปเป็นกลุ่มไม้โปรง ( Ceriops spp.) ตะบูน (Xylocarpus spp. ) ส่วนเขตสุดท้ายเป็นไม้กลุ่มฝาด (Lumnitzera spp.) และเป้งทะเล ( Phoenix paludosa )

พบนกอย่างน้อย 221 ชนิด ในป่าชายเลนปากน้ำกระบี่ เป็นนกน้ำ นกชายเลนอย่างน้อย 139 ชนิด นกประจำถิ่น 137 ชนิด นกอพยพแต่มิใช่เพื่อการผสมพันธุ์ 107 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ( critically endangered ) ได้แก่ นกยางจีน ( Egretta eulophotes ) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) คือ นกกระสานวล ( Ardea cinerea ) นกฟินฟุท ( Heliopais personata ) นกทะเลขาเขียวลายจุด ( Tringa guttifer ) นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ ( Sterna dougallii ) นกนาง นวลแกลบหงอนใหญ่ (S. bergii ) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable ) ได้แก่ นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล ( Pelargopsis amauroptera ) นกกะเต็นแดง ( Halcyon coromanda ) นกหัวขวานใหญ่สีดำ ( Dryocopus javensis ) นกแต้วแล้วป่าโกงกาง ( Pitta megarhyncha ) นกกินแมลงป่าโกงกาง ( Trichastoma rostratum ) นกจับแมลงป่าโกงกาง ( Cyornis rufigastra ) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม ( near threatened ) ได้แก่ เหยี่ยวแดง ( Haliaeetus Indus ) นกแอ่นกินรัง ( Aerodramus fusciphagus ) นกแอ่นหางสี่เหลี่ยม ( A. maximus ) นกหัวขวานใหญ่สีเทา ( Muelleripicus pulverulentus )

พบพันธุ์ปลาอย่างน้อย 50 ชนิด ที่พบมากและเป็นปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลานวลจันทร์ทะเล ( Chanos chanos ) และปลากะพงขาว ( Lates calcarifer ) ชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาตาเหลือก ( Megalops cyprinoids ) ปลากระบอก ( Mugil spp. ) หลายชนิด ปลาข้าวเม่า ( Ambassis spp. ) หลายชนิด ปลาแป้น ( Leiognathus spp. ) หลายชนิด เป็นต้น
พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่าชายเลน ได้แก่ นากเล็กเล็บสั้น ลิงแสม

ที่มา : สำนักงานนโยบายและแผนกทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ภาพ : Tasnai White Sukkeewan

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑