Guest Relation

Energy

Published on ธันวาคม 6th, 2013 | by Divali

0

เปิดโรงไฟฟ้าลมร้อน ‘บิ๊กปูนซีเมนต์’

เมื่อ7-8 ปีที่แล้ว ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยต่างหันมาให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลังงานหลังตระหนักดีว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นและเพื่อเป็นการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงานปี 2540 ทำให้ “บิ๊กวงการซีเมนต์”รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี ซิเมนต์ ในกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ปูนตรา”ช้าง” ปูนตรา”เสือ” บริษัท ปูนซีเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) (บมจ.)หรือ SCCC ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ตรา”นกอินทรี” และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เจ้าของปูน”ทีพีไอ” ต่างออกมาเด้งรับพ.ร.บ.ดังกล่าวโดยกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการลดต้นทุนด้านพลังงาน พร้อมทั้งใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ปูนเอเซียเปิดโรงไฟฟ้าลมร้อน

ล่าสุดบริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด (มหาชน)เจ้าของปูนซีเมนต์ตรา”ดอกบัว” นำโดยนายโรเบอร์โต้ กัลลิเอรี และนายนภดล รมยะรูป กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัทดังกล่าว ออกมาเปิดตัว โรงไฟฟ้าลมร้อน ในนามบริษัท เอเซียซีเมนต์ เอ็นเนอจี คอนเซอร์เวชั่น จำกัด มูลค่าลงทุน 1.3 พันล้านบาท ขนาด 21 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 150 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปีโดยไม่ต้องใช้พลังงานฟอสซิล จะช่วยลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.20 แสนตันต่อปี หรือเท่ากับปลูกต้นไม้ทดแทนในพื้นที่ 1.50 แสนไร่
นายนภดล กล่าวว่าแม้จะเป็นโครงการโรงไฟฟ้าลมร้อนที่ออกมาเปิดตัวช้ากว่าคู่แข่งที่ล้ำหน้าไปก่อนแต่ก็ทำให้บริษัทมีโอกาสเลือกบริษัทซัพพลายเออร์ได้หลายบริษัท และไม่ได้คำนึงเฉพาะการลดการใช้พลังงานอย่างเดียว แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องระบบความปลอดภัยด้วย และด้วยขนาดกำลังผลิต 21 เมกะวัตต์ ถือว่ามีขนาดใหญ่ในแง่ไฟฟ้าลมร้อนที่มาจากกระบวนการเผาปูนเม็ดจากโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่พุกร่าง จ.สระบุรี
“แทนที่จะปล่อยลมร้อนเหล่านี้ทิ้งไปสู่บรรยากาศ แต่ก๊าซร้อนเหล่านี้จะนำมาใช้ในการผลิตไอน้ำในหม้อน้ำและส่งต่อไปยังกังหันไอน้ำเพื่อขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งกรรมวิธีดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนการผลิตพลังงานลงตามหลักการของพลังงานทดแทน และเป็นวิธีการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นอย่างดี”

ต้นทุนลด30ล้านบาท/เดือน
สอดคล้องกับที่นายแสวง บุตรสงฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายโรงงาน บริษัท ปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด(มหาชน) และนายอรรถกร ทองประไพ หัวหน้าส่วนโรงไฟฟ้าลมร้อน กล่าวกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ถ้าซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 100% การมีโรงไฟฟ้าลมร้อนจะช่วยให้บริษัทลดการซื้อไฟฟ้าลงได้ 30% ช่วยชดเชยได้ 1 ใน 3 หรือตีเป็นมูลค่าเงินที่ลดลงจากการใช้พลังงานประมาณ 30 ล้านบาทต่อเดือน โดยโรงงานไฟฟ้าลมร้อนขนาด 21 เมกะวัตต์นี้จะถูกนำกลับไปหมุนเวียนใช้ในโรงงาน
“เราเริ่มใช้พลังงานลมร้อนมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 แต่เพิ่งมาเปิดตัว โรงไฟฟ้าลมร้อนแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีจากจีน เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ในนามบริษัท Anhui Conch Kawasaki Engineeringฯ เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนและญี่ปุ่นโดยใช้ลมร้อนที่ปล่อยออกมาจากไลน์ผลิตปูนซีเมนต์ 2 แห่งที่โรงงานพุกร่าง โดยไลน์ที่ 1 มีขนาดกำลังผลิตปูนซีเมนต์ 5,500 ตันต่อวัน และไลน์ที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 7,500 ตันต่อวัน ซึ่งขณะนี้ใช้กำลังผลิตเต็มเพดานแล้ว โรงงานเหล่านี้จะใช้ไฟฟ้าราว 35 ล้านหน่วยต่อเดือน ใช้ถ่านหินราว 8 แสนตันต่อปี”

ผู้เล่นรายใหญ่ล้ำหน้าไปก่อน
อย่างไรก็ตามธุรกิจปูนซีเมนต์ จากผู้ผลิตแต่ละค่ายจำเป็นต้องรับสภาพความไม่สมดุลของต้นทุนกับราคาปูนซีเมนต์ที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยการบริหารความเสี่ยงของต้นทุนรวมทั้งระบบอย่างระมัดระวัง
ทั้งนี้เมื่อ 7-8 ปีก่อนผู้เล่นรายใหญ่อย่างธุรกิจปูนซีเมนต์เครือซิเมนต์ไทย(SCG) ต้องใช้เงินลงทุนรวมจำนวน 4.5 พันล้านบาท สำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นโครงการต่อเนื่อง ที่นำพลังงานความร้อนเหลือทิ้งกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าใหม่ ซึ่งผลจากการลงทุนในขณะนั้น ช่วยลดการใช้ฟ้าได้ถึง 70-100 เมกะวัตต์ ยังไม่นับรวมงบอีกหลักพันล้านบาทที่เอสซีจี ใช้สำหรับปรับปรุงเครื่องจักรในธุรกิจซีเมนต์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งกับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และโรงงานปูนซีเมนต์แก่งคอย และปูนซีเมนต์ท่าหลวง จังหวัดสระบุรี และที่โรงงานลำปาง

เช่นเดียวกับ บริษัท ปูนซีเมนต์ นครหลวง จำกัด (มหาชน) (บมจ.)หรือ SCCC
ผู้ผลิตปูนซีเมนต์ตรา”นกอินทรี”ที่รุกการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ขนาด 32 เมกะวัตต์(MW) ใช้เงินลงทุนก่อนหน้านั้นเกือบ 2 พันล้านบาท ขยายโรงไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง ของกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ สำหรับใช้เองในโรงงานปูนซีเมนต์ ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
alt “ปัจจุบันบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวงมีขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขนาด 100 เมกะวัตต์ เมื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจาก waste hot gas ขนาด 32 เมกะวัตต์ จะสามารถลดการซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)ได้จำนวน 17.08 ล้านหน่วย/เดือน ค่าไฟฟ้าที่โรงงานประหยัดได้/หน่วย18.7% คิดเป็นเงินที่โรงงานประหยัดได้ประมาณ 42.58 ล้านบาท/เดือน โดยการลงทุนครั้งนั้นได้รับความร่วมมือทางเทคนิคจากบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องจักรจากจีนคือบริษัท sinoma energy conservation limitedฯ “

สำหรับบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
ก็เป็นกลุ่มแรกๆที่นำระบบ WASTE HEAT มาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตปูนซีเมนต์ มีทั้งการนำขยะไปเผาแทนถ่านหิน และนำขยะที่เผาไม่ได้ไปหมักทำปุ๋ย ซึ่งขณะนั้นทีพีไอ โพลีน ใช้เงินลงทุนเพื่อโครงการประหยัดพลังงานสูงมากกว่า 3 พันล้านบาท
นับจากนี้ไปแม้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามงบ 2.2 ล้านล้านจะสะดุดลง อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ปี 2557 ก็ยังมีแนวโน้มสดใสตามการเติบโตของที่อยู่อาศัย และถ้า 2.2ล้านล้านเดินหน้าต่อไปได้ อีก 5 ปี ความสามารถในการผลิตปูนซีเมนต์ที่มีกำลังผลิตรวมกว่า 50 ล้านตันต่อปีในขณะนี้ ก็จะถูกผลักดันลงระบบโครงสร้างพื้นฐานได้มากขึ้น ทั้งเส้นทางคมนาคมและที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า
ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่วงการปูนซีเมนต์ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนด้านพลังงานอย่างจริงจังเพื่อลดต้นทุนในการผลิต

ภาพและข่าว : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,902 วันที่ 5 – 7 ธันวาคม พ.ศ. 2556

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑