Guest Relation

Energy

Published on มกราคม 25th, 2014 | by Divali

0

ปลดโรงไฟฟ้ากฟผ. 2 แห่ง

พลังงานเตรียมปลดโรงไฟฟ้าลานกระบือและโรงไฟฟ้าน้ำพองออกจากระบบภายใน 2 ปีนี้ ชี้ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่ำเพียง 30% หวังนำก๊าซ ที่ส่งเข้าโรงไฟฟ้า มาผลิตเอ็นจีวีป้อนภาคขนส่งแทน ไม่หวั่นไฟฟ้าภาคอีสานขาด เพราะซื้อจากสปป.ลาวในปริมาณมากและมีราคาถูกกว่า ขณะที่สถานการณ์ปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยต่ำ ยันใช้ไปได้แค่อีก 7 ปี

นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้เสนอแผนปลดโรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ขนาดกำลังผลิต 650 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าในปริมาณกว่า 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโรงไฟฟ้าลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ขนาดกำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า 35 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ออกจากระบบภายในปี 2558 เร็วกว่าแผนเดิมที่จะหมดอายุสัญญาการขายไฟฟ้าในปี 2564 ให้นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พิจารณาและได้รับการเห็นชอบแล้ว

ทั้งนี้ เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าเก่ามีประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าต่ำเพียง 30% ส่งผลให้มีการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้ามากกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซทั่วไป เมื่อเทียบกับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตออกมา หากสามารถนำก๊าซจากแหล่งภูฮ่อม ในจังหวัดอุดรธานีที่ส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าน้ำพอง และแหล่งก๊าซสิริกิติ์ที่ส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าลานกระบือ มาทำประโยชน์อย่างอื่น โดยเฉพาะผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า เพราะเป็นการช่วยกระจายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่งให้มีปริมาณเพียงพอและครอบคลุมมากขึ้น หรือหากนำมาทำเป็นก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี ขนส่งไปป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมทางภาคเหนืออย่างเซรามิก เป็นต้น

สาเหตุที่ไม่สามารถปลดโรงไฟฟ้าดังกล่าวออกจากระบบได้ทันที
เนื่องจากต้องรอแผนผลิตก๊าซของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ว่าจะสามารถผลิตก๊าซในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มได้หรือไม่ ขณะเดียวกันก็ต้องรอแผนการจัดตั้งสถานีเอ็นจีวีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ชัดเจนก่อนว่าจะสามารถตั้งได้หรือไม่ รวมถึงการตั้งโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ได้หรือไม่ หากมีความชัดเจนก็เตรียมปลดโรงไฟฟ้าดังกล่าวต่อไป

ส่วนที่เกรงว่าหากปลดโรงไฟฟ้าน้ำพองออกจากระบบแล้ว จะทำให้ไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่เพียงพอนั้น ยืนยันว่าปริมาณไฟฟ้าทางภาคอีสานจะไม่กระทบ เพราะปัจจุบันใช้ไฟฟ้าที่ซื้อจากสปป.ลาวมาป้อนให้อยู่ได้ในปริมาณมาก อีกทั้งมีราคาค่าไฟฟ้าต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้า หากนำก๊าซมาใช้ภาคขนส่งน่าจะมีประโยชน์มากกว่า

นายทรงภพ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ปิโตรเลียมในประเทศ แนวโน้มปรับลดลง ซึ่งในปี 2556 ปริมาณสำรองก๊าซที่พิสูจน์แล้ว 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบกับปี 2555 อยู่ที่ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ ลดลง 10% ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จะทำให้สามารถใช้ก๊าซได้อีก 7 ปีเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องเร่งสำรวจเพิ่ม โดยกรมยังกังวลเรื่องการเปิดสัมปทานรอบ 21 ว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่

โดยในรอบปี 2556 ไทยจัดหาปิโตรเลียมคิดเป็น 43% ของความต้องการใช้ทั้งหมด มีความต้องการใช้ประมาณ 4.95 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สามารถจัดหาได้จากแหล่งในประเทศในอัตรา 3.037 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียอีก 729 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือมาจากการนำเข้าจากเมียนมาร์ 990 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้าในรูปแบบแอลเอ็นจี 190 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

อย่างไรก็ตามในอนาคต หากไทยยังต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 3% ต่อปี และถ้าไม่มีการสำรวจพบปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ เพิ่มเติม ภายในปี 2565 ปริมาณการจัดหาปิโตรเลียมภายในประเทศจะลดลงเหลือ 18% ของความต้องการใช้พลังงาน ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้กรมพยายามรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมให้นานที่สุด โดยเร่งรัดการสำรวจปิโตรเลียมเพื่อพิสูจน์หาปริมาณสำรองปิโตรเลียมมาชดเชยส่วนที่หายไปในแต่ละปี

ทั้งนี้ สิ่งที่กรมจะต้องเร่งดำเนินการคือ การเปิดสัมปทานรอบ 21 , การกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับแหล่งสัมปทานในประเทศที่กำลังจะหมดอายุ ได้แก่ สัญญาสัมปทานการผลิตและสำรวจปิโตรเลียม 2 ฉบับที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2565 คือสัญญากับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด กำลังการผลิต 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และสัญญากับ ปตท.สผ.ที่ได้รับผลิตจากแหล่งบงกชผลิตวันละ 630 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งบงกชใต้ผลิตวันละ 320 ลูกบาศก์ฟุต

ข้อมูล : จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 34 ฉบับที่ 2,913 วันที่ 12 – 15 มกราคม พ.ศ. 2557

Tags:


About the Author



Comments are closed.

Back to Top ↑